เสาดินนาน้อย จ.น่าน
เสาดินนาน้อย และคอกเสือ หรือที่เรียกกันในภาษาท้องถิ่นว่า “ฮ่อมจ๊อม” ตั้งอยู่ที่ตำบลเชียงของ มีลักษณะเป็นเสาดินขนาดใหญ่ คล้ายกับแพะเมืองผี จ.แพร่ เกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝนและลมตามธรรมชาติ จนเห็นเป็นแท่งดินที่มีรูปทรงแตกต่างกันออกไป ทางด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน มีระยะ ทางห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 24 กิโลเมตร ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่สวยงามที่เกิดจากการทับถมของดินและเกิดน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นริ้วรายที่แปลกตา
เสาดินนาน้อยมีลักษณะเป็นหุบผาและแท่งดินผสมหินลูกรังสีแดงปนส้ม รูปทรงต่าง ๆ กันไป บ้างเป็นแท่งแหลม บ้างเป็นแท่งมนกลม แล้วแต่จะจินตนาการให้เป็นรูปอะไร กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่คล้ายกับแพะเมืองผีที่ จ. แพร่ โดยมีป่าเต็งรังขึ้นอยู่กระจัดกระจาย สันนิษฐานว่าเสาดินนาน้อยมี อายุประมาณ 30,000-10,000 ปีและเคยเป็นก้นทะเลมาก่อน นอกจากนี้ยังค้นพบกำไลหินและขวานโบราณที่นี่ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน) แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้อาจเคยเป็น แหล่งอาศัยของ มนุษย์ยุคหินเก่า
จากเสาดินนาน้อยประมาณ 300 ม. จะพบกับคอกเสือ ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งลึกจากเนินดินด้านบนประมาณ10 ม.มีทางลงไปชมปฎิมากรรมดินที่อยู่ด้านล่าง เมื่อลงไปจะพบว่าบริเวณรอบ ๆ มีลักษณะเป็นหุบผาเป็นฉากม่านขนาดใหญ่มีริ้วลายเป็นร่องยาว รวมถึงมีแท่งดินรูปร่างต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ภายในเหมือนกับที่เสาดินนาน้อย ในสมัยก่อนชาวบ้านเล่าว่า บริเวณนี้มีเสืออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และจะมาขโมยเอาวัว ควาย และหมูของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้กินเป็นอาหาร ชาวบ้านจึงรวมกำลังไล่ต้อนเสือให้ตกลงไปในบ่อดินดังกล่าว แล้วใช้ก้อนหินและไม้แหลมขว้างและทิ่มแทงเสือจนตาย เขาจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “คอกเสือ”แม้ว่าจะมีพื้นที่น้อยกว่าประมาณ 10 ไร่ แต่ก็มีความงดงามเฉพาะตัว แตกต่างไปจากที่เสาดินนาน้อย
ในช่วงฤดูหนาวป่าเต็งรังบริเวณรอบ ๆ เสาดินจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แดง ส้ม น้ำตาล ตัดกับสีน้ำเงินของท้องฟ้า ทำให้ดูสวยงาม และที่สำคัญคืออากาศจะเย็นสบาย สามารถเดินถ่ายรูปได้ไม่เหนื่อย
นอกจากนี้ยังเคยขุดพบกำไลหินและขวานโบราณที่นี่ ทำให้สันนิษฐานว่าบริเวณเสาดินนาน้อยอาจเคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคหินมาก่อน ซึ่งปัจจุบันโบราณวัตถุเหล่านั้นถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.น่าน